หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์


 ปรัชญาของหลักสูตร

สร้างบัณฑิตที่มี ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการผลิตและพัฒนาสื่อการศึกษา สามารถก้าวทันวิทยาการและเทคโนโลยีทางด้านสื่อการศึกษาแพทยศาสตร์และสื่อทุกแขนง มีคุณธรรมจริยธรรม และเจตคติที่มุ่งเน้นการใช้สื่อเพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่ผู้รับบริการและสังคม

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
สร้างบัณฑิตให้มีคุณสมบัติดังนี้
(๑) มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบ ผลิต ประยุกต์ และพัฒนาสื่อประเภทต่างๆที่ใช้ในการศึกษาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ การศึกษาทั่วไป และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์และสาธารณสุข
(๒) มีความสามารถติดตามความก้าวหน้าของวิชาการ สื่อการศึกษา และเทคโนโลยีต่างๆสำหรับการศึกษาแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพรวมทั้งวิชาการแขนงอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๓) มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ในการประกอบวิชาชีพ มีมนุษยสัมพันธ์ดี และสามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร
๑๔๔ หน่วยกิต (ระยะเวลาศึกษา ๔ ป๊)

โครงสร้างของหลักสูตร
(ก) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ๓๒ หน่วยกิต
๑.๑ วิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนด ๑๖ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ๗ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาภาษา
- ภาษาไทย ๓ หน่วยกิต
- ภาษาอังกฤษ ๖ หน่วยกิต
๑.๒ วิชาที่หลักสูตรกำหนด ๑๖ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ๕ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ๑๑ หน่วยกิต

(ข) หมวดวิชาชีพ/วิชาเฉพาะ ๑๐๖ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ/วิชาเฉพาะ ๓๘ หน่วยกิต
รายวิชาศิลปะพื้นฐาน ๑๘ หน่วยกิต
รายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยีการศึกษา ๒๐ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาชีพ/วิชาเฉพาะ ๖๘ หน่วยกิต
รายวิชาออกแบบกราฟิก ๗ หน่วยกิต
รายวิชาคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย ๙ หน่วยกิต
รายวิชาถ่ายภาพ ๗ หน่วยกิต
รายวิชาวีดิทัศน์ ๑๑ หน่วยกิต
รายวิชาหุ่น ๘ หน่วยกิต
รายวิชาบูรณาการเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ๒๖ หน่วยกิต
(ค) หมวดวิชาเลือกเสรี ๖ หน่วยกิต

 

 การรับสมัคร


๑ การรับสมัครระบบ Admissions
(๑) จำนวนที่รับสมัคร ๒๐ คน
(๒) คุณสมบัติของผู้สมัคร
o เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย
o เป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๖)
o เป็นผู้ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจหรือโรคสำคัญ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
o ต้องไม่มีความผิดปกติต่างๆ ทางร่างกาย เช่น ตาบอด ตาบอดสี หูหนวก มีความพิการของมือ แขน หรือขา เป็นต้น ที่คณะกรรมการดำเนินการสอบคัดเลือกฯ เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและปฏิบัติงานในวิชาชีพ
(๓) หลักเกณฑ์และองค์ประกอบในการคัดเลือก

องค์ประกอบ รหัส ค่าร้อยละ
๑. GPAX   ๒๐
๒. O-NET ๐๑-๐๘ ๓๐
๓. GAT ๘๕ ๓๐
๔. PAT (PAT ๑)  ๗๑ ๒๐

๒ การรับสมัครระบบรับตรง
(๑) จำนวนที่รับสมัคร ๑๐ คน (สำรอง ๓ คน)
(๒) คุณสมบัติของผู้สมัคร
o เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย
o เป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายโดยมีเกรดเฉลี่ยสะสม ๕ เทอม ไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐
o เป็นผู้ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจหรือโรคสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
o ต้องไม่มีความผิดปกติต่าง ๆ ทางร่างกาย เช่น ตาบอด ตาบอดสี หูหนวก มีความพิการของมือ แขน หรือขา เป็นต้น ที่คณะกรรมการดำเนินการสอบคัดเลือกฯ เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและปฏิบัติงานในวิชาชีพ
(๓) หลักเกณฑ์และองค์ประกอบการคัดเลือก

องค์ประกอบ รหัส ค่าร้อยละ
๑. GPAX   ๑๐
๒. GAT ๘๕ ๑๕
๓. PAT
    PAT ๒
    PAT ๖

๗๒
๗๖


๑๐
๔. สอบปฏิบัติวิชาวาดเส้น (Drawing)   ๒๐
๕. สอบปฏิบัติวิชาออกแบบกราฟิก   ๒๐
๖. สอบวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์   ๒๐


หากปรากฏในภายหลังว่า ผู้สมัครขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง จะถูกตัดสิทธิ์การสอบคัดเลือก หรือถอนสภาพจากการเป็นนักศึกษา ถึงแม้ว่าได้รับการส่งรายชื่อเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต แล้วก็ตาม

 

ค่าเรียน/ทุนการศึกษา


ค่าเรียน
ชั้นปีที่ ๑ ๒๕,๘๐๐ บาท
ชั้นปีที่ ๒ ๓๗,๐๐๐ บาท
ชั้นปีที่ ๓ ๓๖,๔๐๐ บาท
ชั้นปีที่ ๔ ๓๘,๒๐๐ บาท

ทุนการศึกษา
มหาวิทยาลัยมีนโยบายสนับสนุนด้านทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และเป็นผู้ที่มี ความประพฤติดีให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยมีแหล่งทุนการศึกษา ดังนี้
ทุนจากภายในมหาวิทยาลัย
๑. ทุนภูมิพล สำหรับนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีผลงานด้านกิจกรรมต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ทุนละ ๕๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑ ทุน เป็นทุนพระราชทานที่ได้รับในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย
๒. ทุนมหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีความประพฤติดี ทุนละ ๕,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ บาท
๓. ทุนจากดอกผลผู้บริจาค สำหรับนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
แหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย
เป็นเงินทุนจากแหล่งทุนภายนอก ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ / ธนาคาร / บริษัท / ห้างร้าน / มูลนิธิฯ / องค์กรการสาธารณะกุศลและผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยดำเนินการตามความประสงค์ของเจ้าของทุน เช่น คุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ขอรับทุน ซึ่งนักศึกษาสามารถติดตามได้จากบอร์ดประชาสัมพันธ์ที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะ / วิทยาลัย หรือเว็บไซต์กองกิจการนักศึกษา www.orsa.mahidol.ac.th
ทุนฉุกเฉินมหาวิทยาลัย
นักศึกษาที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ที่มีผลกระทบต่อฐานะทางครอบครัวจนอาจเป็นผลเสียต่อการศึกษา เช่น บิดาหรือมารดาเสียชีวิต, บ้านไฟไหม้ นักศึกษาสามารถติดต่อ ณ ฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะ / วิทยาลัย ที่นักศึกษาสังกัด
เงินยืมสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลน
กรณีที่นักศึกษามีจำเป็นฉุกเฉิน นักศึกษาสามารถติดต่อ ณ ฝ่ายกิจการนักศึกษาที่นักศึกษาสังกัดเพื่อพิจารณา โดยมีเงื่อนไข คือ นักศึกษาสามารถยืมได้ตั้งแต่ ๕๐๐ – ๕,๐๐๐ บาท ต่อครั้งและจะต้องชำระคืนภายใน ๖ เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ย
ทุน กยศ.
วัตถุประสงค์ กยศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพ ระหว่างศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวะศึกษา และระดับอุดมศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง


คำถามพบบ่อย


คำถามที่ ๑ ถ้าสนใจอยากเรียนหลักสูตรนี้ แต่ว่าเรียนสายศิลป์คำนวณมา จะสามารถเรียนได้หรือไม่
สามารถเรียนได้ เพราะการเรียนการสอนของหลักสูตรซึ่งเน้นทางด้านศิลปะ และพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะสอนปูพื้นฐานใหม่ทั้งหมด และให้นักศึกษาปฏิบัติจริงโดยมีอาจารย์ดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

คำถามที่ ๒ การเข้าเรียนที่นี่ มี ๒ แบบ คือ ระบบรับตรง และ ระบบแอดมิชชัน มีความแตกต่างกันอย่างไร
1. วันและเวลาในการรับสมัคร
o ระบบรับตรง จะเปิดการรับสมัครประมาณ เดือนตุลาคม (ขณะเรียน ม.๖)
o ระบบแอดมิชชัน จะเปิดการรับสมัครประมาณ เดือนเมษายน ของปีการศึกษาถัดไป (ติดตามประกาศ สกอ.)
2. สถานที่ในการรับสมัคร
o ระบบรับตรง ผู้สมัครจะต้องเข้ามากรอกใบสมัครและยื่นเอกสารด้วยตนเองที่สำนักงาน
โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น ๑๔
o ระบบแอดมิชชัน ผู้สมัครจะต้องทำการสมัครผ่านทาง สกอ. (www.cuas.or.th)
3. รายละเอียดเกี่ยวกับการสอบ
o ระบบรับตรง จะมีการพิจารณาคะแนนจากการสอบ ๒ ส่วน คือ การสอบปฏิบัติ (วิชาวาดเส้น, วิชาออกแบบกราฟิก และวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์) และคะแนนสอบ GAT PAT (รอบเดือนตุลาคม) (GAT, PAT ๒, PAT ๖)
o ระบบแอดมิชชัน จะมีการพิจารณาคะแนนจากการสอบ GAT PAT (GAT, PAT ๑) และ O-NET
4. การประกาศผล
o ระบบรับตรง จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ ประมาณ เดือนธันวาคม จากนั้นจะผ่านกระบวนการสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย พร้อมยืนยันสิทธิ์ ซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือนมีนาคม
o ระบบแอดมิชชัน จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ จากนั้นจะผ่านกระบวนการสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย ซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการเมื่อมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา ภายในเดือนพฤษภาคม
โดยผู้สมัครที่ทำการยืนยันสิทธิ์ในระบบรับตรงแล้ว ไม่มีสิทธิ์ในการยื่นสมัครระบบแอดมิชชันอีก (ติดตามประกาศ สกอ.)

คำถามที่ ๓ ระเบียบที่ควรปฏิบัติตนในการสมัครเรียน หรือติดต่อกับทางหลักสูตรฯ มีอะไรบ้าง
ผู้สมัครต้องแต่งกายด้วยชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา หรือชุดสุภาพ เตรียมเอกสารที่จำเป็นมาให้ครบถ้วน และ
ติดต่อในเวลาราชการเท่านั้น

คำถามที่ ๔ จบจากหลักสูตรนี้แล้ว ทำงานด้านไหนได้บ้าง
อาชีพที่ตรงกับการศึกษาของหลักสูตร คือ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการศึกษาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังสามารถทำความรู้ด้านการออกแบบผลิตสื่อ ไปปฏิบัติงานด้านศิลปกรรม หรือนิเทศศาสตร์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบกราฟิก ช่างภาพ ครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ อาร์ตไดเรกเตอร์ นักพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย นักพัฒนาและตัดต่อวีดิทัศน์ เป็นต้น

คำถามที่ ๕ อยากเรียนหลักสูตรนี้ แต่ว่าที่บ้านมีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ ควรจะทำอย่างไรดี
นักศึกษาของหลักสูตรสามารถกู้ยืมเงิน ได้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) โดยมีวิธีการขอกู้ยืม ดังนี้
๑. ให้นักศึกษาดาวน์โหลดแบบคำขอกู้ยืมได้ที่ http://www.orsa.mahidol.ac.th/main/
๒. กรอกแบบคำขอกู้ยืม
๓. ยื่นแบบคำขอกู้ยืม ณ สถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่
๔. เมื่อได้รับอนุมัติจากสถานศึกษา ให้ทำสัญญาโดยมีการประกันสัญญากู้ยืม
๕. ให้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทยสาขาใดก็ได้ (รายละเอียดมหาวิทยาลัยจะประกาศแจ้งอีกครั้ง)
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังมีการจัดสรรทุนเพื่อนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งสามารถติดตามระเบียบการพิจารณาจากทางมหาวิทยาลัยและคณะฯ ต่อไป

คำถามที่ ๖ แนวข้อสอบในการสอบตรงทั้ง ๓ วิชา สอบอะไรบ้าง
๑. สอบปฏิบัติวิชาวาดเส้น สอบเกี่ยวกับการวาดเส้นขั้นพื้นฐานโดยการใช้ดินสอดำ เพื่อแสดงรูปทรง แสงเงา ระยะของวัตถุต้นแบบ ลงบนกระดาษหรือพื้นผิววัสดุที่กำหนดให้ (เวลาสอบ ๓ ชั่วโมง)
๒. สอบปฏิบัติวิชาออกแบบกราฟิก สอบเกี่ยวกับการออกแบบแนวความคิดทางศิลปะในโจทย์ที่กำหนดให้ โดยใช้เทคนิคสีต่างๆ ที่ผู้เข้าสอบถนัดหรือได้เตรียมมา โดยมีเกณฑ์ในการให้คะแนนในด้านความชำนาญในการวาดเส้นและการใช้สี แนวคิดในการออกแบบ และองค์ประกอบศิลป์ในงาน (เวลาสอบ ๓ ชั่วโมง)
๓. สอบข้อเขียนวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ สอบเกี่ยวกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เบื้องต้น ในเนื้อหาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เช่น ชีววิทยาของระบบต่างๆในร่างกาย การรักษาสมดุลเคมี ในร่างกาย กายวิภาคศาสตร์เบื้องต้น เป็นต้น (เวลาสอบ ๓ ชั่วโมง)

คำถามที่ ๗ เด็กซิ่ว สามารถสมัครได้หรือไม่
สามารถสมัครได้ทั้งในระบบรับตรง และระบบแอดมิชชั่น ตามระเบียบในหน้าเว็บหัวข้อ “การรับสมัคร” ทั้งนี้ ในส่วนของการเลือกคะแนน O-NET, GAT และ PAT เพื่อสมัคร สามารถเลือกคะแนนสอบรอบที่ดีที่สุดได้แม้จะเป็นคะแนนสอบจากคนละรอบกัน เช่น ในกรณีเด็กซิ่ว เข้าปี ๒๕๕๗ สามารถเลือกยื่นคะแนน O-NET และ PAT ๒ จากการสอบเมื่อปี ๒๕๕๖ แต่เลือกยื่นคะแนน PAT ๖ จากการสอบในปี ๒๕๕๗ ได้ (คะแนนสอบแต่ละครั้งมีอายุ ๒ ปี ตามประกาศ สอท.)

 

ติดต่อสอบถาม


หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ (โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่อยู่ : ชั้น ๑๔ อาคารศรีสวรินทิรา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เลขที่ ๒ ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐
โทรศัพท์ : ๐๒-๔๑๙-๘๙๘๗, ๐๒-๔๑๙-๕๕๒๔
โทรสาร : ๐๒-๔๑๙-๘๙๘๗
e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
facebook : www.facebook.com/sietmu
youtube : www.youtube.com/sietchannel


Black Ribbon