หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต
ปรัชญาของหลักสูตร
สร้างบัณฑิตการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีคุณภาพ คุณธรรม มีเจตคติอันดีงามในการประกอบวิชาชีพ และมีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเป็นพื้นฐานในการประยุกต์และพัฒนาการแพทย์แผนไทย
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และเจตคติตามเกณฑ์มาตรฐานของคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข และเน้นคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีงามต่อการประกอบวิชาชีพ และต่อสังคม
(๒) มีความรู้กว้างขวางและโลกทัศน์กว้างไกล
(๓) มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและวิชาชีพตามเกณฑ์ของคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์
(๔) มีพื้นฐานความรู้เพียงพอต่อการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง การศึกษาต่อเนื่อง และการติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาการ
(๕) สามารถผสมผสานและประยุกต์ความรู้ความสามารถทางวิชาการแพทย์แผนไทยกับวิชาการแขนงต่าง ๆ ในการประกอบเวชปฏิบัติ และการพัฒนาการแพทย์แผนไทย
(๖) มีมนุษยสัมพันธ์ดีและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตาม
จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
๑๕๔ หน่วยกิต
โครงสร้างหลักสูตร
(ก) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ๓๐ หน่วยกิต
กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ๗ หน่วยกิต
กลุ่มวิชาภาษา ๑๓ หน่วยกิต
กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ๙ หน่วยกิต (ส่วนที่จัดเป็นวิชาศึกษาทั่วไป)
กลุ่มวิชาการแพทย์แผนไทย ๑ หน่วยกิต (ส่วนที่จัดเป็นวิชาศึกษาทั่วไป)
(ข) หมวดวิชาชีพ/วิชาเฉพาะ ๑๑๘ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ๑๐ หน่วยกิต (ส่วนที่จัดเป็นพื้นฐานวิชาชีพฯ)รายวิชาพื้นฐานวิชาชีพ/วิชาเฉพาะ ๑๐ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ๔๓ หน่วยกิต
รายวิชาพื้นฐานปรีคลินิก ๒๕ หน่วยกิต
รายวิชาพื้นฐานคลินิก ๑๘ หน่วยกิต
o กลุ่มวิชาการแพทย์แผนไทย ๖๕ หน่วยกิต
รายวิชาเวชกรรมแผนไทย ๑๕ หน่วยกิต
รายวิชาเภสัชกรรมแผนไทย ๑๕ หน่วยกิต
รายวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทย ๑๙ หน่วยกิต
รายวิชาผดุงครรภ์ ๕ หน่วยกิต
รายวิชาบูรณาการการแพทย์แผนไทย ๑๑ หน่วยกิต
(ค) หมวดวิชาเลือกเสรี ๖ หน่วยกิต
การรับสมัคร
รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๖) หรือเทียบเท่า ผ่านระบบมหิดลโควตา และระบบแอดมิชชันกลาง (สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ดังนี้
ระบบมหิดลโควตา จำนวน ๓๓ คน แบ่งเป็น
ก. โครงการวิทยาเขต
(๑) กลุ่มกาญจนบุรี จำนวน ๑ คน
(๒) กลุ่มนครสวรรค์ จำนวน ๑ คน
(๓) กลุ่มอำนาจเจริญ (จ.อำนาจเจริญ ๔ คน) จำนวน ๕ คน
ข. โครงการพิเศษ
โครงการพัฒนางานแพทย์แผนไทยประยุกต์ จำนวน ๖ คน
ค. โครงการส่งเสริมความถนัดทางวิชาชีพ จำนวน ๒๐ คน
ระบบกลาง (Admissions) ที่ดำเนินการโดย สอท. จำนวน ๓๒ คน
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๔๔ และต้องศึกษาสาระการเรียนรู้รายวิชาพื้นฐานและเพิ่มเติมรวมกันดังนี้คือ วิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๒๒ หน่วยกิต คณิตศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต และภาษาอังกฤษไม่น้อยกว่า ๙ หน่วยกิต สำหรับหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ให้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ ที่เทียบเท่าเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้น
(๒) มีความประพฤติดีมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและ/หรือต่อการประกอบวิชาชีพ
(๓) มีคุณสมบัติอื่นครบถ้วนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดและต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมระดับมัธยมศึกษา
ตอนปลาย ไม่ต่ำกว่า ๒.๗๕
(๔) ต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย และเนื่องจากในหลักสูตรต้องเรียนรายวิชา
หัตถเวชกรรมแผนไทย จำนวน ๑๙ หน่วยกิต ซึ่งจำเป็นต้องใช้กำลังนิ้วมือในการเรียนเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีแขนขาผิดปกติ และน้ำหนักตัวมากเกินไป
ค่าเล่าเรียน/ทุนการศึกษา
ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อปีการศึกษาโดยประมาณ
ชั้นปีที่ ๑ ๒๓,๐๕๐ บาท
ชั้นปีที่ ๒ ๓๒,๖๐๐ บาท
ชั้นปีที่ ๓ ๓๒,๘๐๐ บาท
ชั้นปีที่ ๔ ๔๒,๒๐๐ บาท
ทุนการศึกษา
o ทุนมหาวิทยาลัยมหิดล
o ทุนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คำถามพบบ่อย
คำถามที่ ๑ แพทย์แผนไทยประยุกต์คืออะไร
สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นวิชาชีพที่นำศาสตร์การแพทย์แผนไทยมาใช้ในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยและประชาชน ประกอบด้วยเวชกรรมแผนไทย เป็นการตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยเภสัชกรรมแผนไทย เป็นการปรุงยาและผลิตยาจากสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค หัตถเวชกรรมแผนไทย เป็นการบำบัดรักษาด้วยการนวดไทยแบบราชสำนัก และผดุงครรภ์ เป็นศาสตร์ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ การทำคลอด การดูแลหญิงหลังคลอด และการดูแลทารกแรกเกิดการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยดังกล่าวนี้ ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การบำบัดรักษาโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการสร้างเสริมสุขภาพ
ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ นอกจากต้องมีความรู้ความสามารถทางด้านการแพทย์แผนไทยแล้ว ยังต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และความรู้พื้นฐานทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย เพื่อเป็นพื้นฐานในการคัดกรองโรค การสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาอื่น การติดตามวิทยาการ รวมทั้งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับในคุณภาพมาตรฐาน
คำถามที่ ๒ แพทย์แผนไทยประยุกต์เรียนเหมือนหรือแตกต่างกับแพทย์แผนปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
แพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นสาขาที่ผู้เรียนต้องศึกษาความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทยเป็นหลัก ในขณะ
เดียวกันต้องเรียนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการบำบัดรักษา ป้องกัน ฟื้นฟู และสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยโดยการทำเวชปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทย ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร การนวดไทยแบบราชสำนัก การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร และการดูแลมารดาหลังคลอด ในรายที่ไม่สามารถให้การดูแลรักษาได้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์จะต้องสามารถประเมินความรุนแรงและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที การปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งนี้ไม่สามารถผ่าตัด ฉีดยา หรือจ่ายยาแผนปัจจุบันได้
คำถามที่ ๓ กลุ่มวิชาการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นวิชาหลักในการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ แต่ละรายวิชามีเนื้อหาสาระสำคัญอย่างไรบ้าง
วิชาชีพแพทย์แผนไทย จะมีเนื้อหาสาระ ๔ กลุ่ม ดังนี้
๑. กลุ่มวิชาเวชกรรมแผนไทย มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ หลักการสำคัญของการแพทย์แผนไทย หลักการ แนวคิด และสาระสำคัญของตำราหรือคัมภีร์ต่าง ๆ ได้แก่ ตำราเวชศึกษา คัมภีร์วรโยคสาร คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์ธาตุวิภังค์ คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ คัมภีร์ประถมจินดา คัมภีร์ฉันทศาสตร์ คัมภีร์มหาโชตรัต คัมภีร์ธาตุบรรจบ คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา คัมภีร์ชวดาร คัมภีร์ตักกศิลา คัมภีร์กษัย คัมภีร์มุขโรค คัมภีร์อติสาร คัมภีร์อุทรโรค คัมภีร์สิทธิสาระสงเคราะห์ คัมภีร์มัญชุสารวิเชียร คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค คัมภีร์ทิพมาลา คัมภีร์ไพจิตรมหาวงศ์ คัมภีร์
อภัยสันตา คัมภีร์สรรพคุณยา และคัมภีร์ที่สำคัญอื่น ๆ การประยุกต์ใช้หลักการ แนวคิด และสาระสำคัญของคัมภีร์แพทย์แผนไทยในการซักประวัติ การตรวจร่างกาย วิเคราะห์โรค และการบำบัดรักษาโรค การให้คำแนะนำ การเทียบเคียงโรคตามหลักการแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน และการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
๒. กลุ่มวิชาเภสัชกรรมแผนไทย มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ วิวัฒนาการของการใช้ยาสมุนไพร จรรยาเภสัชกรรม หลักเภสัช ๔ เภสัชตำรับยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โครงสร้างตำรับยา การวิเคราะห์ตำรับยา การตั้งตำรับยาตามหลักเภสัชกรรมไทย ยาสามัญประจำบ้าน ตัวยาที่มีฤทธิ์แรง ตัวยาที่ใช้แทนกัน น้ำกระสายยา หลักการใช้ยาสมุนไพร วิธีการเตรียมยา การปรุงยา เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตยา หลักเกณฑ์ในการผลิตยาที่ดี การผลิตยาสมุนไพรรูปแบบ
ต่าง ๆ การประเมินคุณภาพยา วิธีการบรรจุ วิธีการเก็บและรักษายา เทคนิคการควบคุมคุณภาพสมุนไพรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
๓. กลุ่มวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทย มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ ประวัติการนวดไทย การนวดไทยแบบต่าง ๆ โดยยึดการนวดไทยแบบราชสำนักเป็นหลัก ศีลธรรมจรรยาในการนวด ระเบียบการนวดไทยแบบราชสำนัก ประโยชน์
ข้อห้ามและข้อควรระวังของการนวด หลักการและวิธีการนวดพื้นฐานและจุดสัญญาณ การฝึกกำลังนิ้วมือ การแต่ง
รสมือ สาเหตุ กลไกการเกิด อาการและอาการแสดง หลักการตรวจวินิจฉัย การนวดรักษาโรคเบื้องต้นและโรคที่มีความซับซ้อนตามหลักทฤษฎีหัตถเวชกรรม ร่วมกับการใช้ยาสมุนไพร การประคบร้อน การให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารแสลงโรค และท่าบริหาร การวิเคราะห์โรคเทียบเคียงกับแผนปัจจุบัน และการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
๔. กลุ่มวิชาผดุงครรภ์ มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้ กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของการตั้งครรภ์ การวินิจฉัยการตั้งครรภ์ การดูแลหญิงในระยะตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ กลไกการคลอด หลักและวิธีการทำคลอดในรายปกติ หลักการและวิธีการดูแลหญิงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย หลักการดูแลทารกแรกคลอด การให้นมบุตร และการวางแผนครอบครัว
คำถามที่ ๔ การนวดไทยแบบราชสำนักคืออะไร
การนวดไทยเป็นหัตถการทางการแพทย์แผนไทยที่มีมาแต่โบราณ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้นวดจะใช้มือหรือส่วนต่างๆของร่างกายผู้นวด กด คลึง บีบ ดึง ดัดส่วนของร่างกาย เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือแก้ไขภาวะต่างๆของผู้ป่วย
การนวดที่พบเห็นได้ในสังคมไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งที่สืบทอดกันแบบพื้นบ้านหรือที่เรียนรู้จากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา การนวดกลุ่มหลังนี้แบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ การนวดไทยแบบเชลยศักดิ์ (Popular type Thai traditional massage) และการนวดไทยแบบราชสำนัก (Court-type Thai traditional massage) สำหรับการนวดที่โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำการนวดแบบราชสำนักมาสอนในหลักสูตรตั้งแต่เริ่มโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ โดยอาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ แพทย์แผนไทยที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการนวดไทยจากหมอหลวงที่เคยปฏิบัติงานในราชสำนัก
การนวดไทยแบบราชสำนัก หมายถึง การกระทำต่อร่างกายมนุษย์โดยแพทย์ผู้นวดบำบัดจะใช้เฉพาะนิ้วมือและมือเท่านั้นตามศาสตร์และศิลป์ที่สืบทอดกันมาจากการแพทย์แผนไทยที่เคยปฏิบัติงานในราชสำนัก มีจุดประสงค์เพื่อบำบัดรักษาโรคและฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย มีแบบแผนที่มีลักษณะจำเพาะกล่าวคือ แพทย์แผนไทยผู้นวดต้องมีกิริยามารยาทที่สุภาพ เช่น ก่อนลงมือนวดจะต้องไหว้เพื่อขอโทษผู้ป่วยที่ถูกเนื้อต้องตัว มีการตรวจวินิจฉัยโรคก่อน เช่น วัดความดันโลหิต จับชีพจรที่ข้อมือและหลังเท้าเพื่อตรวจดูลมเบื้องสูงและลมเบื้องต่ำตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เพื่อให้รู้ว่ากำลังเลือดและลมของผู้รับการบำบัด จากนั้นแพทย์ผู้ให้การบำบัดจะใช้เฉพาะนิ้วมือและมือกดนวดไปตามแนวเส้นและจุดสัญญาณตามส่วนต่างๆของร่างกาย ใช้ท่าทางและองศาของผู้นวดเพื่อกำหนดทิศทางและขนาดของแรงที่ใช้ในการนวด
คำถามที่ ๕ การยกกระดานคืออะไร
การยกกระดานเป็นการฝึกกำลังนิ้วมืออย่างหนึ่งของผู้เรียน เป็นการฝึกยกตัวเองซึ่งอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิเพชรกับพื้นให้ลอยสูงขึ้น โดยใช้นิ้วมือทั้งสองข้างกดพื้นในลักษณะโหย่งนิ้วมือ เป็นฐานรองรับน้ำหนักตัว ยกตัวให้ลอยเหนือพื้น แล้วนิ่งไว้ให้ได้นานประมาณ ๖๐ วินาที เนื่องจากสมัยก่อนจะฝึกกันบนพื้นไม้กระดานเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกการฝึกท่านี้ว่า การยกกระดาน การฝึกกำลังนิ้วมือจะช่วยให้แพทย์ผู้นวดบำบัดสามารถบังคับขนาดและทิศทางของแรงได้ตามที่ต้องการ และเหมาะสมกับผู้รับการบำบัดแต่ละราย
คำถามที่ ๖ การเรียนต้องเรียนร่วมกับนักศึกษาคณะใดบ้าง และต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่หรือไม่
ชั้นปีที่ ๑ เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา น้องๆจะได้เรียนกับเพื่อนต่างคณะมากมาย ส่วนชั้นปีที่ ๒-๔จะเรียนกับเพื่อนในหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิตเท่านั้น ยกเว้นวิชาพยาธิวิทยาพื้นฐาน ที่จะเรียนร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ
ชั้นปีที่ ๒ น้องๆจะได้เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน – พื้นฐานปรีคลินิก น้องๆจะต้องเรียนรู้และสัมผัสกับอาจารย์ใหญ่ด้วย แต่ไม่ต้องผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ (dissection)
คำถามที่ ๗ ในการเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์มีกิจกรรมการเรียนการสอนอะไรที่ทำร่วมกันกับสาขาวิชาชีพอื่นๆบ้าง
ในการเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับสาขาวิชาชีพอื่นๆมากมาย เช่น การดูแลรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน การให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในชุมชนบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลศิริราช
เยี่ยมบ้านผู้ป่วยร่วมกับทีมพยาบาลวิชาชีพ การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การดูแลมารดาหลังคลอดที่หอผู้ป่วยใน เป็นต้น
คำถามที่ ๘ จบมาได้วุฒิการศึกษาอะไร มีคำนำหน้าว่าอะไร
เมื่อสำเร็จการศึกษา จะได้รับวุฒิปริญญาตรีการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต
ชื่อเต็ม การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต (Bachelor of Applied Thai Traditional Medicine)
ชื่อย่อ พทป.บ. (B.ATM.)
คำนำหน้า แพทย์แผนไทยประยุกต์ (พทป.)
คำถามที่ ๙ เรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง มีงานรองรับมากน้อยแค่ไหน
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นักศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ทุกคนจะต้องขอสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้ สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งแพทย์แผนไทยประยุกต์/แพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลทุกระดับ
ทั้งสถานบริการของรัฐหรือเอกชน หรือจะเปิดคลินิกเป็นของตัวเองก็ได้
หากใครที่สนใจงานวิชาการวิจัย ก็สามารถทำงานเป็นอาจารย์ / นักวิชาการ / นักวิจัยทางด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต / แพทย์แผนไทยบัณฑิต หรือหน่วยงานทางราชการหรือองค์กรเอกชนอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์หรือสมุนไพร การบริหารจัดการ เป็นต้น
คำถามที่ ๑๐ การเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถนำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรบ้าง
การเรียนแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นอีกศาสตร์หนึ่งในการดูแลผู้ป่วยในระบบสุขภาพทั้งการบำบัดรักษาโรค ป้องกัน ฟื้นฟู ส่งเสริมสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์การแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติให้ยั่งยืนอยู่คู่กับสังคมไทย และช่วยเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยผ่านงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศ ลดการใช้และการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยสนับสนุนให้เกิดรายได้ของเกษตรกร
ติดต่อสอบถาม
ผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาหรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต สอบถามรายละเอียดได้ที่
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น ๑๓
เลขที่ ๒ ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐
โทรศัพท์ ๐๒-๔๑๙-๘๘๒๔ ถึง ๖ โทรสาร ๐๒-๔๑๙-๘๘๑๘
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Facebook : การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล